เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ 62 สัสสตวาทะ 4

มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น
ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกถึง
ชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เพราะการได้
บรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขา
ดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่
เที่ยงอยู่แน่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 3 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง

มูลเหตุที่ 4

[34] 4. อนึ่ง ในมูลเหตุที่ 4 สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภอะไร
จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง
สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็นนักตรรกะ1 เป็นนักอภิปรัชญา2
แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการคาดคะเนความจริงอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อม
แล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 4 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง

เชิงอรรถ :
1 นักตรรกะ(ตกฺกี) ผู้ที่ให้เหตุผลตามแนวของตรรกศาสตร์ (Logic) มี 4 จำพวก คือ อนุสสติกะ อนุมาน
จากข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ ชาติสสระ อนุมานโดยการระลึกชาติ ลาภิตักกิกะ อนุมานจากประสบการณ์
ภายในของตน และ สุทธิตักกิกะ อนุมานโดยใช้เหตุผลล้วน ๆ (ที.สี.อ. 34/98)
2 นักอภิปรัชญา(วีมํสี) ผู้ที่ให้เหตุผลโดยการคาดคะเนความจริงเอาจากการเทียบเคียงจนพอใจถูกใจแล้วยึด
ถือเป็นทฤษฎี เช่น คาดคะเนในเรื่องที่เกี่ยวกับปฐมเหตุของโลกและจักรวาล (ที.สี.อ. 34/99)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :15 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ 62 เอกัจจสัสสตวาทะ 4

สรุปสัสสตวาทะ

[35] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตา
และโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ 4 อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมี
วาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุทั้ง 4 อย่างนี้ หรือด้วย
มูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้
[36] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคลยึด
ถืออย่างนี้แล้ว ย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้น ๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยังรู้ชัด
ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่นเมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเองรู้ความเกิดความดับ
คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึงหลุดพ้น
เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
[37] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ
ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้
เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม
ความเป็นจริง

ภาณวารที่ 1 จบ

เอกัจจสัสสตวาทะ 4
เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยงเป็นบางอย่าง

[38] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง
บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วย
มูลเหตุ 4 อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไร จึงมีวาทะ
ว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บาง
อย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ 4 อย่าง
[39] ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่งเมื่อล่วงไปนาน ๆ โลกนี้พินาศ เมื่อโลกกำลัง
พินาศเหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่อาภัสสรพรหมโลก นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา
มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมาน
อันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :16 }